ความเป็นมาของโครงการ

                   ปริมาณการปลูกกล้วยของประเทศไทยอยู่ในอันดับที่ 3 ของทวีปเอเซีย โดยมีประเทศฟิลิปปินส์ ปลูกมากเป็นอันดับที่ 1 ซึ่งมีปริมาณการส่งออกต่างประเทศติดอันดับของโลก นับแต่ปี  พ.ศ. 2526 ส่งออก 9,654 ตัน , พ.ศ. 2527 ส่งออก 4,402 ตัน, พ.ศ. 2528 ส่งออก 3,986 ตัน , พ.ศ. 2529 ส่งออก 2,164 ตัน , พ.ศ. 2530 ส่งออก 1,829 ตัน , พ.ศ. 2531 ส่งออก 1,570 ตัน ,ส่วนในปี พ.ศ. 2532 ส่งออกได้เพิ่มขึ้นเป็น 3622 ตัน ปัจจุบันเมื่อเปรียบเทียบปริมาณการส่งออกแล้วจะเห็นว่าไม่ถึง 1 เปอร์เซ็นต์ ของการส่งออกของประเทศฟิลิปปินส์  รัฐบาลไทยจึงได้บรรจุไว้ในแผนพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ ฉบับที่ 7 ถึงปัจจุบัน ประเทศไทยระยะที่ 4 การค้นคว้า วิจัยและส่งเสริมให้เกษตรขยายการปลูกเพื่อส่งผลผลิตไปจำหน่ายในตลาดต่างประเทศ

                  กล้วยเล็บมือนาง เป็นพืชท้องถิ่นที่มีความสำคัญทางเศรษฐกิจของภาคใต้ตอนบน มีพื้นที่ปลูกรวม 8,000 ไร่ จังหวัดชุมพรเป็นแหล่งปลูกกล้วยเล็บมือนางที่ใหญ่ที่สุดในภาคใต้ตอนบน มีพื้นที่ปลูกมากที่สุด ประมาณ 6,000 ไร่ ศูนย์วิจัยและพัฒนาการเกษตร ชุมพร ได้ทำโครงการวิจัยและพัฒนาการผลิตกล้วยเล็บมือนางในพื้นที่ภาคใต้ตอนบน เพื่อหาเทคโนโลยีการผลิตกล้วยเล็บมือนางที่เหมาะสมกับสภาพพื้นที่ การจัดแปลงปลูก การบำรุงดูแลรักษา การให้น้ำ การใส่ปุ๋ย การเก็บเกี่ยว เทคโนโลยีหลังการเก็บเกี่ยว การคัดเลือกสายต้นกล้วยเล็บมือนางที่มีความสอดคล้องกับความต้องการของตลาด ทั้งสายต้นที่เหมาะกับการรับประทานเป็นผลสด และสายต้นที่เหมาะกับการนำไปแปรรูป เป็นผลิตภัณฑ์ต่าง ๆ เพื่อส่งเสริมให้เกษตรกรปลูกกล้วยเล็บมือนางอย่างเป็นระบบมากขึ้น รวมทั้งให้การตรวจ และรับรองแหล่งปลูกกล้วยเล็บมือนางในพื้นที่ โดยออกใบรับรองสัญลักษณ์ Q เพื่อเป็นการการันตีคุณภาพ และความปลอดภัย สร้างความมั่นใจให้กับผู้บริโภคมากขึ้น โดยงานวิจัยและพัฒนาการผลิตกล้วยเล็บมือนาง ในพื้นที่ภาคใต้ตอนบน แบ่งการดำเนินการออกเป็น 2 ระยะ คือ ระยะที่ 1 ปีพ.ศ. 2554-2557 เป็นการสำรวจ รวบรวมพันธุ์กล้วยเล็บมือนางที่มีในพื้นที่ภาคใต้ตอนบนทั้ง 7 จังหวัด มีอยู่จำนวน 21 สายต้น คัดเลือกเหลือ 9 สายต้น นำมาปลูกเปรียบเทียบพันธุ์ที่ศูนย์วิจัยและพัฒนาการเกษตรชุมพร จนได้พันธุ์ที่มีความเหมาะสมกับ สภาพพื้นที่ภาคใต้ตอนบนและสอดคล้องกับความต้องการของตลาด สายต้นที่มีความเหมาะสมในการบริโภค ผลสดเป็นพันธุ์นครศรีธรรมราช 1 ลักษณะเนื้อแน่น เนื้อเหนียว รสหวาน กลิ่นหอม ให้ผลผลิตสูง ขณะที่สายต้นชุมพร 8 เป็นพันธุ์ที่เหมาะสำหรับการนำไปแปรรูป ให้ผลผลิตสูง ลักษณะผลใหญ่ การจัดเรียงของผลสวยงาม เหมาะที่จะนำไปแปรรูปเป็นกล้วยอบ กล้วยฉาบ กล้วยเคลือบช็อกโกแลต ส่วนระยะที่ 2 เริ่มปี 2559-2564 เป็นการศึกษาวิจัยต่อเนื่อง โดยการนำพันธุ์ที่รวบรวมได้มาศึกษาและขอการรับรองพันธุ์ เพื่อการบริโภคและ เพื่อการแปรรูป คาดว่าในปี 2561 กรมวิชาการเกษตรจะประกาศรับรองพันธุ์กล้วยเล็บมือนางดังกล่าว ปัญหาการผลิตของเกษตรกร อันได้แก่ ระยะปลูก การไว้หน่อ การให้ปุ๋ย การห่อเครือ การตัดแต่งใบ การจัดการหลังเก็บเกี่ยว เป็นหัวใจสำคัญของการผลิตกล้วยเล็บมือนางให้มีคุณภาพ นอกจากสายพันธุ์ที่เหมาะสมแล้ว การจัดการสวนอย่างถูกต้องก็เป็นสิ่งจำเป็น โดยเฉพาะการตกแต่งหน่อทุกๆ 3 เดือน และไว้หน่อจำนวน 4 หน่อต่อ กอ หากไม่ตัดแต่งหน่อให้เหมาะสม จะส่งผลให้เครือกล้วยมีขนาดเล็ก เพราะหน่อจะไปแย่งอาหารจากต้น แม่ ทำให้ผลผลิตไม่มีคุณภาพ ขายได้ราคาค่อนข้างตำ ทำให้มีรายได้ไม่คุ้มค่ากับการลงทุน   อย่างไรก็ตาม งานวิจัยและรายงานทางวิชาการเกี่ยวกับการปลูกกล้วยเล็บมือนางเพื่อเพิ่มปริมาณ ผลผลิตคุณภาพยังมีปริมาณจำกัด ด้วยเหตุนี้คณะวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีได้เล็งเห็นว่ากล้วยเล็บมือนางเป็นพืชที่ตลาดมีความต้องการอย่างต่อเนื่อง ประกอบกับแปลงเกษตรหลังโรงสีข้าวสวนดุสิต อำเภอเมืองปราจีนบุรี จังหวัด ปราจีนบุรี มีพื้นที่ว่างที่เหมาะสมในการทดลองปลูกกล้วยเล็บมือนางสายพันธุ์ที่เหมาะสมและสอดคล้องกับ ความต้องการของตลาด โครงการปลูกกล้วยเล็บมือนาง (พันธ์ชุมพร) คณะวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี   จึงมีวัตถุประสงค์เพื่อศึกษาสภาพการปลูกและขยายสายพันธุ์กล้วยเล็บมือนางที่มีความเหมาะสมกับสภาพพื้นที่ในการปลูก เพื่อที่จะได้นำผลผลิตที่ได้ไปใช้เป็นวัตถุดิบในการส่งเสริมการทำวิจัยและพัฒนานวัตกรรมสู่ชุมชนตามอัตลักษณ์และนโยบายเพื่อความเข้มแข็งของมหาวิทยาลัยสวนดุสิต